How’s A Professional be
อันดับแรกก่อนที่เราจะพูดกันเรื่องนี้ ผมคงต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า การที่ผมคิดจะเขียนบทความเรื่องนี้ขึ้นมา ผมไม่ได้คิดที่จะยกหางตนเองแต่อย่างใด และผมก็คิดอยู่นานว่าควรเล่าเรื่องพวกอย่างนี้ออกไปดีหรือไม่ เพราะคิดว่าคงมีคนหมั่นไส้อยู่พอสมควร แต่คิดไปคิดมาก็เห็นว่า ประโยชน์ที่ได้น่าจะตกอยู่กับเด็กรุ่นใหม่ทุกคน ส่วนผลเสียที่ผมอาจจะโดนหมั่นไส้ก็คงตกอยู่ที่ผมคนเดียว คิดหักกลบลบหนี้แล้วประโยชน์น่าจะเกิดกับคนหมู่มากมากกว่า ก็เลยตัดสินใจเขียนเรื่องเหล่านี้กันมาให้อ่านครับ
ในช่วงการทำงานที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทำงานกับคนในระดับ Professional หรือที่เรียกสั้นๆว่าพวกมือโปร จากหลากหลายประเทศ ทำให้เห็นรูปแบบการทำงานของคนเหล่านี้ทั้งที่เป็น Professional ระดับเริ่มต้น Professional ระดับกลางๆ และระดับที่ต้องยกนิ้วให้ และด้วยตำแหน่งที่ผมทำอยู่ เป็นหัวหน้าทีมที่ต้องทำงานกับกลุ่มคนเหล่านี้ให้ทำงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้ผมได้มีโอกาสมองเห็นการทำงานอันหลากหลายสไตล์ ได้มองเห็นข้อดีข้อเสียของโปรแต่ละคน จนผมคิดว่าพอจะสามารถเรียบเรียงเป็นองค์ความรู้ ที่อยากจะเอามาถ่ายทอดเป็นแนวทางให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ผู้ที่มีความทะเยอทะยานอยาก และพยายามพัฒนาฝึกฝนตัวเองเพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นมือระดับโปร เพื่อที่ว่าซักวันหนึ่งเขาเหล่านี้จะสามารถเดินทางไปทำงานได้ทั่วโลก เป็นมือโปรระดับ World class ตามความฝันที่ได้วาดเอาไว้
สำหรับนักล่าความฝันในสายงาน IT ผมหวังว่าบทความนี้คงจะได้เป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ
เริ่มเข้าเรื่องกัน
Professional คำๆนี้เป็นที่หมายปองของคนที่ทำงานในทุกสาขาอาชีพอยู่ลึกๆในจิตใจ ไม่ว่าคนๆนั้นจะทำงานสาย IT, Network, Civil engineer, Fashion designer, architecture etc สำหรับคนที่มีความจริงจังต่องานที่ตัวเองทำ มีความมุ่งมั่นต่องานที่ตัวเองรับผิดชอบ และรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ล้วนแล้วปรารถนาที่จะก้าวไปสู่ความเป็น Professional หรือความเป็นมืออาชีพกันทั้งนั้น
ในสายงานด้าน IT นั้น เรามี Certificate จากผู้ผลิตสินค้าหลากหลายประเภทที่แยกเป็นตั้งแต่ Certificate ระดับเบื้องต้นเช่น CCNA, MCSA, CCSA ระดับกลางเช่น CCNP, MCSE, CCSE จนถึงระดับสูงเช่น CCIE เป็นต้น ดังนั้นคนที่ทำงานสาย IT หลายๆคนจึงได้พยายามฝึกฝนและสอบเพื่อให้ได้ Certificate มาเป็นเครื่องการันตีคุณภาพการทำงานของตนเอง เพื่อยกระดับตัวเองให้เข้าไปสู่ความเป็น professional
แต่หากถามว่าคนที่ได้รับ Certificate สูงๆ ถือได้ว่าเป็น Professional หรือไม่ คำตอบนี้คงตอบได้ไม่ชัดเสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น คนที่สอบ CCNP หรือที่มีชื่อเต็มว่า Cisco Certified Network Professional สามารถถือได้ว่าเป็นคนที่ทำงานมีฝีมือในระดับ Professional ได้หรือไม่ ทั้งๆที่มี Certificate มีชื่อกำกับว่าเป็น Professional certificate ไว้เรียบร้อยแล้ว การตอบคำถามนี้ถ้าจะให้ชัด อยากจะให้ลองคิดอย่างนี้ดูว่า ช่วงก่อนสอบตัวสุดท้ายสำหรับ cert ตัวนี้ (ต้องสอบให้ผ่าน 4 วิชา เพื่อให้ได้ CCNP) และต้องใช้เวลาอีก 3 ชั่วโมงในห้องสอบเพื่อสอบตัวสุดท้าย เพื่อให้ได้ CCNP นั้น ในห้วงเวลาแค่ 3 ชั่วโมง หลังจากที่เขาสอบผ่านและได้ CCNP มาครองนั้น จะถือว่าคนผู้นี้ได้เปลี่ยนจากระดับธรรมดาขึ้นมาเป็นระดับ Professional ใช่หรือไม่ ถ้าดูอย่างนี้ผมว่าทุกคนน่าจะตอบได้เหมือนกันคือ “ไม่ใช่” ดังนั้นตามโลจิกนี้ เราก็พอจะบอกได้ว่าใบ Certificate ไม่ได้เป็นเครื่องเปลี่ยนคนจากระดับธรรมดาให้เป็นระดับ Professional ได้
แต่เดี๋ยวก่อน การสรุปเช่นนี้ย่อมมองแค่มุมมองเพียงด้านเดียว ผมเชื่อว่ามีหลายคนมากที่ปรามาสการได้ cert มา โดยจะบอกเหมือนกันหมดว่า “เห็นมาเยอะแล้ว พวกที่มี cert แต่พอทำงานจริงกลับไม่ได้เรื่องเลย” หรือบอกว่า “เห็นคนเก่งๆตั้งหลายคน เขาไม่เห็นจะมี cert ซักกะใบ แต่ก็ทำงานได้อย่างเชี่ยวชาญ Cert ไม่เห็นจะจำเป็นอะไรเลย” สิ่งเหล่านี้เราจะมามองกันในรายละเอียดจากหลายๆมุม ขอให้ติดตามกันต่อนะครับ
เนื้อหาส่วนที่เหลือ ผมจะทยอยเขียนมาลงให้จนครบนะครับ
Fordot